ปรับเท่าไหร่บ้าง!! กฎหมายความเร็วรถ 2566 ขับได้ไม่เกินเท่าไร หากโดนใบสั่งเสียค่าปรับกี่บาท
ปรับเท่าไหร่บ้าง กฎหมายความเร็วรถ 2566 แต่ละประเภทขับเร็วสูงสุดได้เท่าไรถึงจะไม่โดนใบสั่ง และหากวิ่งเร็วเกินกำหนดจนโดนใบสั่งจะต้องเสียค่าปรับในอัตราเท่าใด
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งได้จำแนกประเภทรถกับความเร็วที่ขับได้บนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบท รวมถึงทางชนิดอื่น ๆ โดยมีข้อกำหนดดังนี้
1. กำหนดให้ความเร็วขั้นสูงสำหรับการขับรถในทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถที่จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ให้ขับรถแต่ละประเภทในทางเดินรถโดยใช้ความเร็วไม่เกินดังนี้
– รถยนต์ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถจักรยานยนต์ทั่วไป ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม รถบรรทุกคนโดยสารที่บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถในขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถจักรยานยนต์ (บิ๊กไบค์) ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 46 แรงม้าขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ซี.ซี. ขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโรงเรียน หรือรถรับ-ส่งนักเรียน ให้ขับโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถบรรทุกคนโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ทั้งนี้ จะมีการกำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับการขับรถในช่องเดินรถช่องทางขวาสุดของทางเดินรถในทางหลวง ซึ่งจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไป โดยให้รถยนต์ที่ขับในช่องทางเดินรถช่องขวาสุดใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
2. กำหนดความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถที่อยู่ ใน เขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง หรือเขตชุมชน และทางขนาน
– รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถจักรยานยนต์ ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถจักรยานยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 400 ซี.ซี. ขึ้นไป ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโดยสาร 5-7 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารที่มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโรงเรียน ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถลากจูง รถสามล้อ รถยนต์สี่ล้อเล็ก ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถที่ใช้ในการเกษตร ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
3. ความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถที่อยู่ นอก เขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง หรือเขตชุมชน
– รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถจักรยานยนต์ ใช้ความเร็วไม่เกิน 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถจักรยานยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 400 ซี.ซี. ขึ้นไป ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโดยสาร 5-7 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารที่มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโรงเรียน ใช้ความเร็วไม่เกิน 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถลากจูง รถสามล้อ รถยนต์สี่ล้อเล็ก ใช้ความเร็วไม่เกิน 55 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถที่ใช้ในการเกษตร ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
4. ความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถบนทางพิเศษ และทางเดินรถนั้นอยู่ในระดับเหนือหรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ
– รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในเลนขวาสุด ความเร็วต้องไม่ต่ำกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโดยสาร 5-7 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารที่มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโรงเรียน ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถลากจูง รถสามล้อ รถยนต์สี่ล้อเล็ก ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง
5. ความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถบนทางพิเศษ และทางเดินรถนั้นอยู่ในระดับพื้นดิน
– รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในเลนขวาสุด ความเร็วต้องไม่ต่ำกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโดยสาร 5-7 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารที่มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถโรงเรียน ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
– รถลากจูง รถสามล้อ รถยนต์สี่ล้อเล็ก ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อัตราโทษปรับหากใช้ความเร็วเกินกำหนด
สำหรับอัตราโทษปรับเมื่อโดนใบสั่งใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงที่ประกาศออกมานั้นไม่ได้บังคับใช้กับทุกพื้นที่ แต่ให้ยึดจากป้ายกำกับหรือเครื่องหมายจราจรในพื้นที่นั้น ๆ แต่เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโดนใบสั่งจากกล้องตรวจจับความเร็ว ควรใช้ความเร็วให้เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด หรือใครจะลองโหลดแอปพลิเคชันกล้องตรวจจับความเร็วมาใช้ก็ได้เช่นกัน