เตรียมรับค่าไฟแพง!! กกพ. เคาะค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 จ่อพุ่งแตะ 4.65-6.01
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เคาะค่าไฟงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2567 จ่อพุ่งแตะ 4.65-6.01
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยแนวโน้มค่าไฟงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567
ค่าไฟในช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวดปลายปี เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
โดยปัจจัยผลักดันต้นทุนค่าไฟมาจาก 3 สาเหตุ คือ แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงจากงวดก่อนหน้า (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567) 1.29 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 36.63 บาทต่อดอลลาร์ ผลจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ และต่างประเทศ
ตลอดจนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งมีต้นทุนราคาถูก มีความพร้อมในการผลิตลดลง และสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (แอลเอ็นจีสปอต) ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.58 เหรียญดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากงวดที่ผ่านมาอยู่ที่ 10.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ตามสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปี
โดยแนวโน้มค่าไฟงวดใหม่ แบ่งเป็น 3 กรณี
กรณีที่ 1 ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับเพิ่มเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 44%
กรณีที่ 2 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน
กรณีที่ 3 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่าเอฟทีขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ระดับเดิม คือ 4.18 บาทต่อหน่วย รัฐบาลจะต้องใช้เงินเข้าอุดหนุนขั้นต่ำกว่า 28,000 ล้านบาท กรณีนี้หากให้ กฟผ.เข้ารับภาระ จะทำให้หนี้ กฟผ.กลับไปทะลุ 1 แสนล้านบาท อาจกระทบกับสภาพคล่องของ กฟผ.ได้
จากสถานการณ์ค่าไฟที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนพลังงาน และภาระหนี้สินที่ต้องชดใช้ สำนักงาน กกพ.จะเร่งรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดไฟฟ้า เพราะพบว่ากลุ่มเปราะบางที่ได้รับการสนับสนุนค่าไฟในระดับ 3.99 บาทต่อหน่วย มีปริมาณการใช้ไฟค่อนข้างสูง