แข่งขันสูง!! หางานช่วงโควิดยากขึ้น คู่แข่งเยอะ 1 ตำแหน่งงานต่อ 100 ใบสมัคร
บริษัทจัดหางานในประเทศไทย เปิดข้อมูลแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงาน พบ ช่วงโควิด-19 มีอัตราส่วนการแข่งขันสูง อยู่ที่ 1 ตำแหน่งงาน ต่อ 100 ใบสมัคร ในกลุ่มเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท
น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต พบว่า ในเดือน ก.พ.2564 จำนวนความต้องการแรงงานในไทยทั้งบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่นๆ ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึง 24.65% สะท้อนให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการว่า ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือน เม.ย.2563 และเดือน ธ.ค.2563 จากการระบาดระลอกที่ 2 ของโควิด-19 และคาดการณ์ว่า จำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวก 5% ในกลางปี 2564 เมื่อเทียบกับกลางปี 2563 และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด–19 ในต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น
ในส่วนของความต้องการเมื่อแบ่งตามสายงาน จากจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
1.สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 16.0%
2.สายงานไอที คิดเป็น 14.7%
3.สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 9.8%
กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563
1.สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7%
2.สายงานขนส่ง คิดเป็น 24.7%
3.สายงานการผลิต คิดเป็น 20.8%
กลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุด ได้แก่
1.ธุรกิจประกันภัย 42.9%
2.ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 41.9%
3.ธุรกิจการผลิต 37.7%
สำหรับ สายงานที่น่าห่วง คือ สายงานภาคท่องเที่ยว โรงแรมยังติดลบ -20%
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสายงานใหม่ๆ เกิดขึ้นจากปัจจัยในประเทศที่เปลี่ยนไป หลังวิกฤตโควิด-19 เช่น นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation รวมถึง Growth Officer
ส่วนอัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงโควิก-19 และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท แสดงให้เห็นว่า คนไทยหางานมากขึ้นการแข่งขันยิ่งสูง
ทั้งนี้ จากแบบสำรวจ ที่ จ๊อบส์ ดีบี ร่วมกับ บริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) พบว่า กว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลก ยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัต่างประเทศ และ 50% ของคนไทย ที่จะทำงานในต่างประเทศเช่นกัน โดยไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลก ที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2014 และ 2018
จากปี 2018 ที่แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ที่ใช้แรงงาน แต่ปี 2020 กลับเป็นชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเติบโตของบริษัทในประเทศที่ขยายมาสู่ประเทศไทย ซึ่งงานต่างชาติจะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ งานข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนา งานที่พักโรงแรม และบริการด้านอาหาร งานวิทยาศาสตร์ การบริหาร และการบริการ
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบคนทำงานในประเทศไทยหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 มีพฤติกรรมหันมาทำงานแบบเวอร์ชวลมากขึ้นในทุกสายงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ ซึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนทำงานแบบเวอร์ชวล (Virtual Talent Pool) ที่จะมาเป็นกุญแจสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับภาครัฐ นายจ้าง รวมถึงคนทำงานในยุคหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการหางานในต่างประเทศ โดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ โอกาสในการหาคนทำงานที่ตรงตามความต้องการจากต่างประเทศ