ระวังไว้ทุกคน!! ไม่สวมหมวกกันน็อก โดนกล้อง AI ตรวจจับปรับจริง
แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับมูลนิธิเซฟเฟอร์โรดส์ ส่งมอบกล้องอัจฉริยะระบบ AI ตรวจจับคนไม่สวมหมวกกันน็อค ตลอด 24 ชม. ให้แก่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่
นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ผู้เชี่ยวชาญแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าคนเชียงใหม่จำนวนมาก จำเป็นต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั่วทั้งจังหวัดประมาณ 1 ล้านคัน เฉพาะในเขต 6-7 แสนคัน แม้ไม่ใช่ยานพาหนะที่ปลอดภัยมากนัก ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าเป็นห่วงนั้น พบว่าอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ของเชียงใหม่ กว่า 70% เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เพราะเป็นช่วงที่สวมหมวกกันน็อคน้อยกว่าตอนกลางวัน เนื่องจากไม่มีตำรวจบนท้องถนน โดยเฉพาะหลัง 20.00 น. ในเขตเมืองสวมหมวกกันน็อคเพียง 52% ขณะที่ค่าเฉลี่ยในอำเภอใกล้เคียงต่ำกว่าเพียง 12% เท่านั้น
ดังนั้น เพื่อช่วยป้องกันชีวิตผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งจากสถิติพบว่ากว่า 80% ของผู้เสียชีวิตจากมอเตอร์ไซค์ มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บที่ศรีษะ ระบบกล้องดังกล่าวจะเริ่มบันทึกภาพจริง ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป หากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ซ้อนท้ายไม่สวมหมวกนิรภัย จะมีใบสั่งส่งไปยังเจ้าของรถให้ดำเนินการชำระค่าปรับ ผู้ขับขี่ 400 บาท และผู้ซ้อน 800 บาท โดยในระยะเริ่มต้นจะติดตั้ง 16 จุด แบ่งเป็น ในเขต อ.เมือง 8 จุด และพื้นที่ใกล้เคียงใน อ.สันทราย อ.สารภี อ.หางดง และ อ.แม่ริม แห่งละ 2 จุด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย รวมถึงลดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร
สาเหตุที่เราต้องนำร่องโครงการใน 5 พื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากสถิติการเสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนผู้เสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกกันน็อค มากกว่าครึ่งหรือ 204 ราย เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ จากยอดรวม 398 รายใน 25 อำเภอ โดยมีการประเมินว่าหากอัตราสวมหมวกกันน็อค ในพื้นที่นำร่อง เพิ่มขึ้น 80% จะเซฟชีวิตคนเชียงใหม่ได้มากกว่า 100 คนต่อปีเลยทีเดียว นพ.ธีรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย ที่ใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเต็มรูปแบบ ติดตั้งครอบคลุมจุดเสี่ยงสำคัญ โดยค่าใช้จ่ายในการติดตั้งกล้องและอุปกรณ์ประกอบทั้งหมด รวมถึงระบบปฏิบัติการ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเซฟเฟอร์โรดส์ จำนวน 13 ล้านบาท ขณะที่ในระยะต่อไปมีการตั้งเป้าขยายพื้นที่ตรวจจับ โดยทำการเชื่อมต่อกล้อง CCTV คุณภาพดีมากกว่า 2 เมกาพิเชล ของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัด เข้ากับซอฟแวร์และระบบเซิฟเวอร์ เป็นโครงข่ายครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งหากทำได้จะลดการเสียชีวิตกลุ่มจักรยานยนต์ จากปีละกว่า 500 ราย เหลือต่ำกว่า 200 ราย
cr : haknuman