ช่วยเหลือลูกหนี้!! เปิดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กยศ.บรรเทาความเดือดร้อนช่วงโควิด-19 ระบาด
เปิดรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ (กยศ.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 ระบาด
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อการศึกษา โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เตรียมเงินไว้ 3.8 หมื่นล้านบาทรองรับผู้กู้ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 6.24 แสนคน ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้กู้มีความยากลำบากในการหาผู้ค้ำประกัน กยศ. จึงได้ยกเลิกกำหนดที่ให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน ในสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 โดยได้ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาทและอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกส่วนหนึ่ง รัฐบาลโดย กยศ. ยืนยันมีวงเงินเหลือพร้อมให้การสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ขณะนี้มีลูกหนี้ 3.6 ล้านคนและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน โดย กยศ. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี คือ
1.ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด
2.ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชี
3.ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมด
4.ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัดและชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว
5.ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% กรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ซึ่งมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะมีผลถึง 31 ธันวาคมปีนี้ สำหรับกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ประจำปี 2563 และ 2564 กยศ. จะชะลอการฟ้องคดีไปจนถึง 31 มีนาคมปีหน้ายกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้พร้อมงดการขายทอดตลาด กรณีที่ถูกบังคับคดีจนถึงสิ้นปีนี้ กยศ. จะงดการขายทอดตลาด
ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ลูกหนี้ กยศ. ยังจะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวด ยืดเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เบื้องต้นธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาจัด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” ยับยั้งสถานะไม่ให้เป็น NPL ส่งผลเสียทางเครดิต และกระทบต่อหน้าที่ราชการได้ในอนาคต โดยเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 66 เปิดให้แจ้งความประสงค์ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 64
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยหนี้ครู บุคลากรทางการศึกษา และหนี้นักเรียนที่หยั่งลึกมานาน เน้นให้มีมาตรการแก้หนี้ที่เป็นระบบและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้สินภาคประชาชนให้มากที่สุด พร้อมเร่งสร้างวินัยและความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดาฯ กล่าว
cr : tnnthailand