กฎใหม่เพิ่มชดเชย!! ผู้โดยสาร เที่ยวบินดีเลย์-ยกเลิก เริ่ม 20 พ.ค. 68

คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ออกข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 101 มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าหรือถูกยกเลิก
ล่าช้าเกิน 2 ชม.
- ต้องได้อาหาร+เครื่องดื่ม+อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร ฟรี
ล่าช้าเกิน 5 ชม.
- ได้ค่าชดเชยขั้นต่ำ 1,500 บาท + ที่พัก+รถรับส่ง (ถ้าต้องค้างคืน)
ล่าช้าเกิน 10 ชม.
- ค่าชดเชยสูงสุดถึง 4,500 บาท ตามระยะทาง
ถูกยกเลิกแบบไม่แจ้งล่วงหน้า
- ต้องชดเชยเหมือนล่าช้าเกิน 10 ชม.(ชดเชยสูงสุดถึง 4,500 บาท ตามระยะทาง)
กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิก หรือปฏิเสธการรับขน สายการบินจะต้องชดเชยผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกินกว่า 10 ชั่วโมง ยกเว้นในกรณีที่สายการบินแจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือในกรณีที่สายการบินแจ้งน้อยกว่า 7 วัน แต่สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินให้ผู้โดยสารเดินทางไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้เร็วหรือช้ากว่าไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากวันและเวลาเดิม และในกรณีที่การยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้สายการบินดำเนินมาตรการอันสมควรแล้วก็ตาม
เที่ยวบินในประเทศล่าช้าหรือยกเลิก
- หากเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง จากเดิม 600 บาท เป็น 1,200 บาท
- หากเที่ยวบินยกเลิก จากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,500 บาท
ซึ่งสายการบินสามารถเสนอการคืนค่าชดเชยในรูปแบบของวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง(travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน ทั้งนี้ ค่าชดเชยจะยกเว้นเหตุอันเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้สายการบินดำเนินมาตรการอันสมควรแล้วก็ตาม
กรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมงและยังไม่มีกำหนดเวลาทำการบินขึ้น (take-off tine) ต้องอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน เว้นแต่กรณีที่อาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือการรักษาความปลอดภัยหรือด้วยเหตุผลด้านการจัดการจราจรทางอากาศ
ข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 101 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในอุตสาหกรรมการบินของไทย โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จะเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่สายการบินและผู้โดยสารอย่างทั่วถึง เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการทุกคน ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารได้ที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย