ไม่ยากอย่างที่คิด!! วิธียื่นขอรับเงินชราภาพ ประกันสังคม มีเอกสารอะไรบ้าง ได้ตอนไหน
วิธีขอรับเงินชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม เช็กเอกสารหลักฐานที่ต้องมี ก่อนยื่นขอรับเงินบำเหน็จ บำนาญ โอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์
ใครอายุครบ 55 ปีแล้ว อย่าลืมไปขอรับเงินชราภาพคืน โดยจะได้เป็นบำเหน็จ รับเงินก้อนเดียวไปแล้ว กรณีส่งเงินสมทบไม่เกิน 180 เดือน หรือได้รับเป็นบำนาญ เพราะจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน
ส่วนสถานที่ทำเรื่องขอรับเงินชราภาพคืน สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคม ทั่วประเทศ ยกเว้นที่สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ นนทบุรีที่ไม่รับทำเรื่องขอรับเงินส่วนนี้คืน
รีวิววิธียื่นขอรับเงินชราภาพ กองทุนประกันสังคม
การขอรับเงินคืน สามารถเดินทางไปที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน ยกเว้นสำนักงานใหญ่ แจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ จากนั้นจะได้รับเอกสารที่เรียกว่า สปส.2-01 เพื่อกรอกข้อมูล พร้อมนำหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนา 1 ชุด รวมถึงกรณีหลักฐานการเปลี่ยนแปลง ชื่อ-นามสกุล หรืออื่นๆ
ที่สำคัญ คือ ช่องที่กรอกข้อรับเงิน ควรเป็นพร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และบัญชีเงินฝาก จะได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใครที่ยังไม่มีพร้อมเพย์ รีบไปสมัครที่ธนาคารเลย เพราะถ้าจะให้ประกันสังคมโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก โดนหักครั้งละ 5 บาท เป็นค่าโอนทุกเดือน
จากนั้นมาถึงขั้นตอนการกดคิว รอเจ้าหน้าที่เรียกไปตรวจสอบข้อมูล ซึ่งจะแจ้งว่า เราจ่ายเงินสมทบมากี่บาท 15, 20 หรือ 35 ปี จะได้เป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ ขึ้นกับเงินที่จ่ายสมทบ
นอกจากนี้ การขอรับเงินชราภาพ ต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ์รับเงินกรณีชราภาพ โดยห้ามเกินแม้แต่วันเดียว เพราะจะถูกตัดสิทธิ์รับเงินบำเหน็จ-บำนาญทันที
หากผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน
กรณีที่ว่าเมื่อรับเงินบำนาญประกันสังคมแล้ว จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปด้วยหรือไม่นั้น คำตอบคือ ได้ ผู้ประกันตนประกันสังคมสามารถรับได้ทั้ง 2 อย่าง คือ เงินชราภาพจากประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้ประกันตน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา หรือโทร. 1506 มีเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
เงินชราภาพ ประกันสังคม คืออะไร?
เงินชราภาพประกันสังคม เป็นกองทุนที่เก็บเงินจากคนทำงานที่เป็นสมาชิกในระบบประกันสังคม เพื่อให้ได้รับเงินเมื่อถึงวัยเกษียณ หรือ 55 ปี ขึ้นไป โดยเงินที่เก็บสะสมนี้มาจากหักเงินเดือนทุกเดือน 5% (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ระหว่าง 250 – 750 บาท แล้วแบ่งเป็น 3 ประเภท
ส่วนที่ 1: สำหรับค่ารักษาพยาบาลและเหตุฉุกเฉิน หัก 1.5% หรือประมาณ 225 บาท และไม่สามารถขอคืนได้ถ้าไม่ใช้
ส่วนที่ 2: เป็นเงินออมสำหรับชราภาพ หัก 3% หรือประมาณ 450 บาท และจะได้รับคืนเมื่อครบวัย 55 ปี
ส่วนที่ 3: สำหรับประกันว่างงาน หัก 0.5% หรือประมาณ 75 บาท ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถใช้สิทธิ์เพื่อเป็นรายได้ระหว่างตกงานหรือกำลังหางานใหม่ หากไม่ใช้สิทธิ์ก็จะไม่ได้รับเงินคืน
ดังนั้น เงินประกันสังคมไม่เพียงแต่เป็นการประกันในเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุ แต่ยังเป็นวิธีการออมเงินสำหรับช่วงชราภาพ และป้องกันความเสี่ยงของการว่างงาน โดยมีระบบที่สะสมเงินให้ในระยะยาว ซึ่งจะได้รับคืนในวัยเกษียณหรือในสถานการณ์ที่เจออุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพต่างๆ
เงินชราภาพ ประกันสังคมได้เท่าไหร่?
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีอายุ 55 ปี และไม่เป็นผู้ประกันตนแล้ว จะมีสิทธิ์รับเงินเกษียณอยู่ 2 รูปแบบ คือ เงินบำเหน็จ และ เงินบำนาญ
– เงินบำเหน็จ จะได้รับเงินสมทบทั้งหมดที่จ่ายให้ ถ้าจ่ายน้อยกว่า 12 เดือน หรือ รับเงินสมทบของผู้ประกันตน และ นายจ้าง และ ผลประโยชน์ประจำปี ถ้าจ่ายมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน
– เงินบำนาญ ถ้าจ่ายครบ 180 เดือน จะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คำนวณจากเพดานไม่เกิน 15,000 บาท)
ตรวจสอบสิทธิและยอดเงินสมทบชราภาพ แบบง่ายๆ
ถ้าไม่สะดวกในการเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคม ยังมีวิธีตรวจสอบสิทธิและยอดเงินสมทบชราภาพ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ช่องทางหลักดังนี้
– เว็บไซต์ของ สปส. www.sso.go.th
– แอปพลิเคชั่น SSO Connect สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง ระบบ iOSและ Android
– ไลน์ Line Official Account ของ สปส. @ssothai
cr : sanook