กยศ.คำนวณหนี้ใหม่! เริ่มทะยอยคืนเงินแล้ว ลงทะเบียนขอรับเงินคืน ดูที่นี่

กยศ. เริ่มทยอยโอนเงินคืน หลังคำนวณหนี้กยศ.ใหม่ ตรวจสอบยอดหนี้ – ลงทะเบียนขอรับเงินคืน ได้แล้ววันนี้
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เริ่มทยอยโอนเงินคืน หลังคำนวณยอดหนี้ใหม่ ลูกหนี้กยศ. ตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ได้แล้ว (วันนี้ 5 พ.ย.67) กรณีกยศ. มีการคำนวณยอดหนี้ใหม่ คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี และลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ส่งผลผู้กู้ 2.8 ล้านรายมียอดหนี้ลดลง อีก 177,936 ราย จะได้รับเงินคืน รวมเป็นเงินที่ กยศ. ต้องจ่ายคืนกว่า 2,100 ล้านบาท
โดยกยศ. ได้เปิดให้ ลูกหนี้ลงทะเบียนรับเงินคืนมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดย กยศ. จะโอนเงินคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่ผูกบัญชีธนาคารด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเท่านั้น เริ่มทยอยโอนเงินคืนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป
กยศ. ยังแนะนำให้ผู้กู้ยืม ยื่นปรับโครงสร้างหนี้ และทำสัญญาใหม่กับ กยศ. ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ค้ำประกัน ให้พ้นจากความรับผิด แม้กฎหมายใหม่จะไม่เอาผิดผู้ค้ำประกันแล้วก็ตาม แต่ยังมีชื่อเป็นผู้ค้ำประกันอยู่ ดังนั้นผู้ค้ำประกันต้องผลักดันให้ผู้กู้เงิน กยศ.เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อปลดภาระค้ำประกันด้วย
ตรวจสอบยอดหนี้ใหม่
วิธีตรวจสอบยอดหนี้ใหม่
1.เข้าเว็บไซต์ www.studentloan.or.th
2.เลือกเมนู “ตรวจสอบคำนวณยอดหนี้ใหม่”
3.กรอกข้อมูลตามบัตรประชาชน
4.กดยืนยันการลงทะเบียน
ลงทะเบียนขอรับเงินคืน
วิธีลงทะเบียนขอรับเงินคืน
1.เข้าเว็บไซต์ www.studentloan.or.th หรือ https://slfrefund.studentloan.or.th
2.เลือกเมนู “ลงทะเบียนขอรับเงินคืน กรณีคำนวณหนี้ใหม่”
3.กรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน
4.กดยืนยันการลงทะเบียน
ทั้งนี้ การคำนวณยอดหนี้ใหม่ข้างต้นเป็นการคำนวณหนี้โดยไม่ใช้ระบบ “กยศ. Connect” ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยได้นำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนกองทุนฯนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และคิดเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี
หากผู้กู้ยืมประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนฯจะใช้ยอดหนี้ที่ได้คำนวณใหม่นี้ในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปลดภาระผู้ค้ำประกันให้พ้นจากความรับผิด และเมื่อระบบ กยศ.Connect ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้วยอดหนี้ทั้งหมดจะถูกปรับโดยอัตโนมัติและจะแสดงในแอปพลิเคชัน กยศ.Connect ต่อไป
ลงทะเบียนนัดหมายปรับโครงสร้างหนี้
1.เข้าเว็บไซต์ www.studentloan.or.th
2.เลือกเมนู “ปรับโครงสร้างหนี้”
3.กดลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้
4.กรอกเลขบัตรประชาชน
5.กดยืนยันการลงทะเบียน
จากนั้นสามารถตรวจสอบการนัดหมายได้ที่แถบเมนู “ตรวจสอบการนัดหมาย”
เอกสารที่ต้องเตรียมในวันทำสัญญา
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเงิน จำนวน 1 ฉบับ (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)
– สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
กลุ่มเป้าหมาย
-กลุ่มก่อนฟ้องคดี
-กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแล้วแต่ยังไม่ฟ้องคดี
-กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้วแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
-กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีไปแล้ว
-กลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด
เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้
1.ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
2.ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
3.ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
4.การคำนวณยอดหนี้ที่จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้
– กองทุนฯ จะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด
– ในกรณีคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้วไม่มียอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงเหลือ กองทุนฯจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมและให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% โดยถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว
– สำหรับผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ กองทุนฯจะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ จากเดิมตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จะตัดเงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด) ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ
– อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และอัตราเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
– ในส่วนของเบี้ยปรับทั้งหมด กองทุนฯจะพักแขวนไว้ เมื่อผู้กู้ได้ทำการชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
– เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกันเงินกู้ทันที
– ในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สะสมถึง 6 งวด หรือเมื่อผู้กู้ยืมมีงวดผ่อนชำระเหลือไม่ถึง 6 งวด หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ให้ถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลง กองทุนฯจะนำเบี้ยปรับที่ตั้งพักแขวนไว้กลับคืนมาเป็นทุนทรัพย์เพื่อดำเนินการฟ้องร้องหรือบังคับคดีกับผู้กู้ยืมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา